12.1 พันธะของคาร์บอนในสารประกอบอินทรีย์

Spread the love

12.1 พันธะของคาร์บอนในสารประกอบอินทรีย์

ปี พ.ศ. 2371 (ค.ศ. 1828) ฟรีดริช เวอเลอร์ พบว่า การให้ความร้อนกับสารประกอบอนินทรีย์แอมโมเนียมไซยาเนต (NH4OCN) ทำให้เกิดยูเรีย (CO(NH2)2) ซึ่งเป็นสารประกอบอินทรีย์ได้ ความเชื่อที่ว่าสารประกอบอินทรีย์ได้จากสิ่งมีชีวิตเท่านั้นจึงไม่เป็นจริงในปัจจุบันสารประกอบอินทรีย์ หมายถึง สารที่มีธาตุคาร์บอนเป็นองค์ประกอบทั้งที่มาจากสิ่งมีชีวิตหรือสังเคราะห์ขึ้นก็ได้

สารที่มีธาตุคาร์บอนเป็นองค์ประกอบบางชนิดที่ไม่จัดเป็นสารประกอบอินทรีย์(เป็นสารอนินทรีย์) เช่น

1. สารที่เป็นอัญรูปของธาตุคาร์บอน เช่น เพชร (C) แกรไฟต์ (C) ฟูลเลอรีน (C60)

2. ออกไซด์ของคาร์บอน เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO)

3. กรดคาร์บอนิก (H2CO3) และเกลือของกรดคาร์บอนิก เช่น โซเดียมคาร์บอเนต (Na2CO3) โซเดียมไฮโดรเจน   คาร์บอเนต (NaHCO3)

4. เกลือออกซาเลต เช่น โซเดียมออกซาเลต (Na2C2O4)

5. เกลือไซยาไนด์ เช่น โพแทสเซียมไซยาไนด์ (KCN)

6. เกลือไชยาเนต เช่น แอมโมเนียมไซยาเนต (NH4OCN)

7. เกลือไทโอไชยาเนต เช่น โพแทสเซียมไทโอไซยาเนต (KSCN)

8. เกลือคาร์ไบด์ เช่น แคลเซียมคาร์ไบด์ (CaC2)

คาร์บอน (C) เป็นธาตุในหมู่ IVA (หมู่ 14) มี 4เวเลนซ์อิเล็กตรอนโดยทั่วไปจึงเกิดพันธะโคเวเลนต์กับอะตอมข้างเคียง 4 พันธะเพื่อให้เป็นไปตามกฎออกเตต พันธะโคเวเลนต์ที่เกิดขึ้นอาจเป็นพันธะเดี่ยว พันธะคู่ หรือพันธะสาม พันธะโคเวเลนต์ที่พบในสารประกอบอินทรีย์ส่วนใหญ่เป็นพันธะระหว่างอะตอมของคาร์บอนด้วยกันและคาร์บอนกับไฮโดรเจน

การเชื่อมต่อกันระหว่างอะตอมของคาร์บอนในโมเลกุลของสารประกอบอินทรีย์ อาจมีลักษณะเป็นโซ่ตรง (Straight chain) หรือเป็นโซ่กิ่ง (branched chain) หรือเป็นวง (cyclic) ดังรูป โดยโครงสร้างที่มีลักษณะเป็นโซ่ตรงและโซ่กิ่งอาจเรียกรวม ๆ ว่าเป็นโครงสร้างแบบโซ่เปิด (open chain)

#เคมี #บทที่12 #ครูเต้ยสายฮา #พันธะของคาร์บอนในสารประกอบอินทรีย์